ประชุมชี้แจงคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับในปีงบประมาณ พ.ศ.2564

วันที่ 8 ตุลาคม 2563 ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้มอบหมายให้ ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และดร.เกษศิรินทร์  สุวรรณสุนทร ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบการแนะแนว สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา เข้าร่วมการประชุมชี้แจงคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โดยมี นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน  เป็นประธาน ณ ห้องแกรนด์บอลรูม เอ ชั้น 8 โรงแรม ลี การ์เดนส์ พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กระทรวงศึกษาธิการ (หน่วยงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กลุ่มเป้าหมาย 14 จังหวัดภาคใต้) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการจัดหางาน โดยการประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มทักษะด้านอาชีพให้แก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับทั่วประเทศ และซักซ้อม ชี้แจงแนวทางในการขับเคลื่อนโครงการฯ ให้แก่คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ในระดับจังหวัด เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการเพิ่มทักษะอาชีพฯ  นายกวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยว่า โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ เป็นความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ของจังหวัด ทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคเอกชน ในการร่วมกันขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อช่วยเหลือให้นักเรียนที่จบการศึกษาภาคบังคับ แล้วไม่ได้เรียนต่อ เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจน จําต้องเข้าสู่ตลาดแรงงานในฐานะ “แรงงานไร้ฝีมือ” และได้ค่าจ้างเพียงอัตราแรงงานขั้นต่ำ ให้มีความมั่นคงในอาชีพ มีรายได้สูงขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ ทุกจังหวัดได้เริ่มดําเนินโครงการฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 พบว่าจังหวัดที่ประสบความสําเร็จในการดําเนินการ มีปัจจัยสําคัญอย่างน้อย 3 ประการ  คือ 1. บทบาทของผู้ว่าราชการจังหวัด / รองผู้ว่าราชการจังหวัด 2. ความร่วมมือของคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ และ 3.บทบาทของครูแนะแนว สำหรับการประชุมครั้งนี้ มีขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมสําหรับการขับเคลื่อนโครงการฯ พร้อมกับหารือแนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 เพื่อพัฒนาการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถช่วยเหลือนักเรียนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป